สาธารณสุขจังหวัดพะเยา แนะประชาชนให้ตระหนักในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในบ้านตนเองและดูแลคนในครอบครัวเป็นอันดับแรก ด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค

สาธารณสุขจังหวัดพะเยา แนะประชาชนให้ตระหนักในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในบ้านตนเองและดูแลคนในครอบครัวเป็นอันดับแรก ด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค
               
     นายแพทย์เอกชัย คำลือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ มีจำนวนสูงขึ้นรวมทั้งในพื้นที่จังหวัดพะเยา สถานการณ์ไข้เลือดออก จังหวัดพะเยา ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม จำนวน 100 ราย อัตราป่วย 21.06 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ป่วย สูงกว่าปี 2565 9.8 เท่า และมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง 5.8 เท่า สภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง มีอุณหภูมิอุ่นขึ้น ส่งผลกับลูกน้ำที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ คือ จะทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายของลูกน้ำเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ระบบต่างๆภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว ฉะนั้นลูกน้ำจะเปลี่ยนระยะเร็วมาก โดยยุงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปแพร่สู่อีกคนหนึ่งได้ ระยะตัวโม่งของยุงลายบ้าน ปกติจะใช้เวลาในการสร้างปาก ปีก ขา และเปลี่ยนแปลงลำตัว 2-3 วัน สภาวะโลกร้อนทำให้ระยะเวลานี้หดสั้นลงเหลือเพียง 1-2 วัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 วันครึ่ง ก็สามารถลอกคราบเป็นตัวยุงได้แล้ว แต่ยุงที่เกิดขึ้นจะตัวเล็กกว่าปกติ เพราะเกิดจากลูกน้ำที่ตัวเล็ก พอเกิดเป็นยุงก็เป็นยุงที่ตัวเล็ก เมื่อระยะต่างๆ สั้นลง ยุงจะเกิดเร็ว  ทำให้มีการผสมพันธุ์เร็วตามไปด้วย และทำให้มียุงสะสมในธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ปกติวงจรชีวิตยุงใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน แต่ในภาวะโลกร้อนนี้วงจรชีวิตยุงหดสั้นลง ใช้เวลาเพียงสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น นอกจากนี้อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของยุงตัวเต็มวัยด้วย คือทำให้ยุงมีกิจกรรมการบินมากขึ้นและทำให้หิวบ่อย  จึงหากินเลือดเหยื่อบ่อยขึ้น เป็นสาเหตุว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บที่นำโดยยุงจึงมากขึ้น
     นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา กล่าวด้วยว่า  ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออก   แต่เป็นการรักษาตามอาการ  ดังนั้นจึงต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าสีอ่อน แขนยาว ขายาว ป้องกันยุงกัดเมื่อออกจากบ้านหรือทายากันยุง  นอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน ให้ผู้ป่วยทายาป้องกันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อต่อไป ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  เช่น แก้ว พลาสติก ขวดน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น เปลี่ยนและทำความสะอาดที่ขอบผิวภาชนะเหนือผิวน้ำที่อาจจะมีไข่ยุง ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำลงในภาชนะที่มีน้ำขังที่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำได้ โดยยึดหลัก “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยป้องกัน 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 
     ทั้งนี้ ขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสาร่วมมือร่วมใจกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆกัน  เพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไปจากชุมชน พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมทำกิจกรรม Big Cleaning Day โดยพร้อมเพรียงกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากมีไข้ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟนและไดโคลฟีแนคมารับประทาน ขอให้ไปพบแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรักษาทันท่วงที

 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar